เอกสารประชาสัมพันธ์การยื่นคำร้องคดีขอตั้งผู้จัดการมาดก
ด้วยปัจจุบันคดีในศาลจังหวัดสงขลามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การกำหนดวันนัดพิจารณาคดีแพ่งและคดีผู้บริโภคมีความเหมาะสม อันจะส่งผลให้การพิจารณาคดีเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเป็นธรรม ศาลจังหวัดสงขลาจึงได้กำหนดวันนัดพิจารณาในคดีแพ่งและคดีผู้บริโภคให้คู่ความทราบล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนมีการฟ้องคดี เพื่อความสะดวก ในการเดินทางมายื่นคำฟ้องหรือคำร้องต่อศาลทั้งนี้ ศาลจะถือกำหนดตามวันนัดพิจารณาโดยเคร่งครัด ดังนั้น หากผู้ประสงค์จะฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลจังหวัดสงขลา สามารถตรวจสอบวันนัดพิจารณาคดีล่วงหน้าเพื่อความเหมาะสมได้ที่เว็บไซด์ศาลจังหวัดสงขลา ประกอบกับปัจจุบันศาลจังหวัดสงขลารับคำร้องคดีขอจัดการมรดก มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ตลอดจนผู้ร้องสามารถคัดถ่ายคำสั่งขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ในวันนัดไต่สวนคำร้อง โดยในวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ผู้ร้องหรือทนายผู้ร้องเตรียมเอกสารมาให้พร้อม หรือหากมีเหตุขัดข้องขอให้ส่งเอกสารให้พร้อมภายหลังวันฟ้องไม่เกินกว่า ๑๕ วัน เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว เมื่อถึงวันนัดศาลจะได้ดำเนินการไต่สวนคำร้องให้แล้วเสร็จและผู้ร้องสามารถคัดถ่ายคำสั่งไปได้ทันที เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนหรือผู้ร้องในคดีขอจัดการมรดก ไม่ต้องเดินทางมาศาลหลายนัด ซึ่งเป็นการเสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ
ใบเตรียมเอกสาร การยื่นคำร้องคดีขอจัดการมรดก
ขอความร่วมมือให้ท่านยื่นเอกสารให้ครบถ้วนในวันยื่น คำร้องหรือก่อนวันนัดพิจารณา 15 วัน เมื่อถึงวันนัดท่านจะสามารถคัดถ่ายคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ในวันนัด1. ใบสำคัญการสมรสหรือทะเบียนสมรสหรือข้อมูลทะเบียนครอบครัว (กรณีผู้ร้องเป็นคู่สมรส)
2. สูติบัตรหรือแบบรับรองรายการทะเบียนคนเกิดหรือสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุเลขประจำตัวประชาชนของบิดาและมารดาทั้งของผู้ร้องและผู้ตาย(กรณีผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน)
3. พินัยกรรม (กรณีมีผู้รับพินัยกรรม หรือผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม)
4. ใบสำคัญการสมรสของบิดามารดาหรือทะเบียนสมรสของบิดามารดาหรือข้อมูลทะเบียนครอบครัว หรือใบสำคัญการหย่าและสูติบัตรของบุตรหรือแบบรับรองรายการทะเบียนคนเกิดหรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุตรที่ระบุเลขประจำตัวประชาชนของบิดามารดา กรณีไม่มีเลขประจำตัวให้ติดต่อเทศบาลหรือที่ว่าการอำเภอตามสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุ (กรณีผู้ร้องเป็นบุตรกับบิดามารดาหรือบิดามารดากับบุตร)
5. บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้ร้อง
6. บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้ตาย
7. มรณบัตรของผู้ตายหรือแบบรับรองรายการทะเบียนคนตาย
8. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร้องและผู้ตายหรือแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์
9. หลักฐานเกี่ยวกับมรดกของผู้ตาย เช่น
9.1 โฉนดที่ดิน, หนังสือรับรองการทำประโยชน์
9.2 หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด
9.3 คู่มือรายการจดทะเบียนรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์
9.4 ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน
9.5 สัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์
9.6 ใบหุ้น
9.7 สลากออมสิน
9.8 พันธบัตร
9.9 อื่น ๆ............................
(เงินบำเหน็จตกทอด เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เงินประกันชีวิต ไม่เป็นมรดก)
10. บัญชีเครือญาติ
11. หนังสือให้ความยินยอมของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ให้ความยินยอมที่รับรองสำเนาถูกต้องโดยทายาทคนดังกล่าว กรณีทายาทเป็นผู้เยาว์ให้ใช้สูติบัตร
12. มรณบัตรของทายาทที่ถึงแก่ความตาย เช่น บิดา มารดา คู่สมรส บุตร
13. หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อหรือชื่อสกุลของผู้ร้องหรือผู้ตายหรือทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก(ถ้ามี)
หมายเหตุ เอกสารทุกฉบับต้องมีต้นฉบับ กรณีไม่มี ต้นฉบับหรือสูญหายใช้สำเนาที่รับรอง
สำเนาถูกต้องโดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง มาแสดง
http://www.sklc.coj.go.th
โทร.๐ ๗๔๓๑ ๕๕๐๔
พฤษภาคม ๒๕๕๘
แสดงความคิดเห็น