ศูนย์สมานฉันท์และสันติวิธีของศาลจังหวัดสงขลามีหน้าที่บริหารจัดการคดีส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนระงับข้อพิพาทด้วยหลักสมานฉันท์และสันติวิธี โดยให้ความรู้สิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ตามกฎหมาย ขั้นตอนการดำเนินคดีของศาลยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการของศาลและทางเลือกในการระงับข้อพิพาท ตลอดจนผลดีผลเสียในการดำเนินคดีต่าง ๆ ในศาล และสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการกระทำของคู่ความและประชาชนอันมีต่อสังคมส่วนรวม โดยมุ่งเน้นให้ผู้พิพากษาเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวกับคู่ความเป็นรายคดี
แนวคิดการสร้างความสมานฉันท์ และสันติวิธี
๑. บริหารจัดการคดีอย่างเป็นระบบตั้งแต่เริ่มต้นชั้นฝากขังและรับฟ้องเป็นต้นไปจนสิ้นสุดกระบวนการ
๒. คู่ความทุกฝ่ายต้องยินยอมเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์
๓. แนวทางการสร้างความสมานฉันท์แตกต่างจากกระบวนการพิจารณาของศาลตามปกติ เนื่องจากกระบวนพิจารณาคดีเป็นการค้นหาข้อเท็จจริงว่าผู้ใดถูก ผู้ใดผิดหรือเป็นการค้นหาความเสียหายที่แท้จริง แต่กระบวนการสร้างความสมานฉันท์เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ขึ้นตอนการดำเนินคดีของศาลตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการผลดี ผลเสียในการดำเนินคดีในศาลให้กับคู่ความ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการกระทำ
ผู้พิพากษาเป็นผู้ดำเนินการทำให้ประชาชนสามารถสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ จากผู้พิพากษาได้โดยตรงมีผลให้ประชาชนไม่ถูกหลอกลวงจากผู้แสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบและสามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้การต่อศาลอย่างไร
กระบวนการสร้างความสมานฉันท์ฯ
ศาลจังหวัดสงขลาได้จัดตั้งศูนย์สมานฉันแยกต่างหากจากงานอื่น โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์สมานฉันท์รับผิดชอบงานดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้
๑. แยกคน คือมีการแยกผู้พิพากษาเพื่อทำหน้าที่สมานฉันท์ออกจากผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีดังกล่าว กล่าวคือผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีกับผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่สมานฉันท์จะต้องเป็นคนละคนกัน ซึ่งจะทำให้คู่ความมั่นใจว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาไม่รู้ข้อเท็จจริงต่างๆที่จำเลยพูดคุยกับผู้พิพากษาในห้องสมานฉันท์
๒. แยกสำนวน คือจัดให้มีการแยกสำนวนสมานฉันท์ออกจากสำนวนเดิมข้อเท็จจริงที่เกิดจากกระบวนการสมานฉันท์ถือเป็นความลับไม่สามารถใช้อ้างอิงเป็นพยานในการพิจารณาคดีได้ เว้นแต่คู่ความยินยอมให้บันทึกไว้เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดีต่อไปได้จึงทำให้คู่ความกล้าพูดและสอบถามผู้พิพากษาได้โดยตรง
๓. แยกห้อง ศาลจังหวัดสงขลาได้จัดไห้มีห้องสมานฉันท์แยกต่างหากจากห้องพิจารณาคดี มีลักษณะเป็น
ห้องประชุม มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและมีเจ้าหน้าที่คอยบริการตลอดเวลา ผู้พิพากษาและทนายความในห้องนี้จะไม่สวมชุดครุย
คดีอาญาความผิดต่อแผ่นดินทุกประเภทสามารถเข้าสู่ศูนย์สมานฉันท์และสันติวิธีได้
วิธีการสมานฉันท์และสันติวิธี ในศาลจังหวัดสงขลา
๑. กรณีเข้าสู่ศูนย์สมานฉันท์ก่อนฟ้องคดีคือชั้นฝากขัง
- การให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่และขั้นตอนการดำเนินคดีในศาลยุติธรรมโดยแจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์ให้ผู้ต้องหาทุกคนที่พนักงานสอบสวนนำตัวมาฝากขังต่อศาลในครั้งแรก
- ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือผู้มีส่วนได้เสียยื่น คำร้องแสดงความประสงค์ต่อศาลเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์
๒. กรณีการเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์
หลังจากพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องคดีแล้ว คือในวันนัดสอบคำให้การจำเลยนัดแรก หากจำเลยให้การปฏิเสธก็จะนำเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
๓. กรณีการเข้าศูนย์สมานฉันท์ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาสืบพยานโจทก์หรือจำเลย
คู่ความอาจร้องขอให้ส่งสำนวนเข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์ได้ หากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเห็นสมควรอนุญาตก็ให้นำคดีเข้าสู่ศูนย์สมานฉันท์เพื่อดำเนินการต่อไป
ข้อควรรู้เกี่ยวกับกระบวนการสมานฉันท์และสันติวิธี ของศาลจังหวัดสงขลา
๑. คู่ความหรือประชาชนที่ประสงค์จะนำคดีของตนเข้าสู่ศูนย์สมานฉันท์และสันติวิธีสามารถติดต่อได้โดยตรงหรือโทรศัพท์หมายเลข ๐ ๗๔๓๑ ๕๕๐๓
๒. ข้อเท็จจริงใด ๆ ที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงในกระบวนการพิจารณาคดีตามปกติของศาลได้ เว้นแต่คู่ความยินยอมให้นำข้อเท็จจริงนั้นไปใช้อ้างอิงในการพิจารณาของศาลต่อไปได้ (ให้การรับสารภาพหรือยอมรับข้อเท็จจริง อันทำให้การพิจารณาคดีของศาลรวดเร็วซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี)
๓. การให้บริการของศูนย์สมานฉันท์เน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจและตอบข้อสงสัยแก่คู่ความและประชาชนทั่วไป ไม่มีการต่อรองในเรื่องโทษและไม่ใช่ศูนย์ที่ปรึกษากฎหมาย
๔. ระบบงานของศูนย์สมานฉันท์เป็นกระบวนการแยกต่างหากจากการดำเนินพิจารณาพิพากษาคดีปกติ ไม่เป็นเหตุให้นำไปอ้างเพื่อเลื่อนการพิจารณาคดี
ประโยชน์ของกระบวนการสร้างความสมานฉันท์และสันติวิธี
๑. เข้าใจ ทำให้คู่ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย กระบวนการระงับข้อพิพาทในศาลและขั้นตอนการดำเนินคดีของศาลตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ผลดี ผลเสีย ในการดำเนินคดีในศาล
๒. เข้าถึง ทำให้คู่ความและประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมมากขึ้นจนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะดำเนินคดีต่อไปอย่างไร
๓. พัฒนา เมื่อคู่ความสามารถเข้าใจและเข้าถึงความยุติธรรมได้ง่าย ศาลก็สามารถพิจารณาคดีได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม
๔. สะดวก วิธีการและขั้นตอนไม่ยุ่งยากและซับซ้อนตลอดจนมีความเป็นกันเอง
๕. รวดเร็ว ใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่นานก็สามารถให้คู่ความหรือประชาชนเข้าใจได้เป็นอย่างดี
๖. ประหยัด ไม่เสียค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายทั้งคู่ความสะดวก
๗. เป็นธรรม คู่ความเป็นผู้เสนอ ยอมรับและตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีของตนเอย่างไรต่อไป
๘. ลดปริมาณคดีในศาล ทำให้การพิจารณาของศาลเป็นไปโดยรวดเร็วไม่เกิดการคั่งค้างของคดี
แสดงความคิดเห็น